สยามชัยพลาซ่า > บทความ > ด่วน มติศาลรัฐธรรมนูญเอกฉันท์ โหวตนายกฯ พิธา ซ้ำรอบ 2 ไม่ได้

ด่วน มติศาลรัฐธรรมนูญเอกฉันท์ โหวตนายกฯ พิธา ซ้ำรอบ 2 ไม่ได้

ภาพประกอบข่าว

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ปัดตกคำร้องวินิจฉัยเสนอชื่อพิธา แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล เป็นบุคคลสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ โหวตซ้ำรอบ 2 ไม่ได้ และผู้ร้องมิได้ถูกละเมิดสิทธิ

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาเรื่องพิจารณาที่ ต. 24/2566 กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า กรณีรัฐสภา (ผู้ถูกร้อง) มีมติตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่ 2 เป็นญัตติทั่วไป

ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้อง ทั้ง 3 ได้แก่ นายพรชัย เทพปัญญา ผู้ร้องเรียนที่ 1 นายบุญส่ง ชเลธร ผู้ร้องเรียนที่ 2 และนางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สส.นนทบุรี พรรคก้าวไกล และคณะผู้ร้องที่ 3 โดยผู้ร้องที่ 1-2 กล่าวอ้างว่าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ และเขตของพรรคก้าวไกล และผู้ร้องเรียนที่ 3 เป็น สส.พรรคก้าวไกล

ล่าสุดผลการพิจารณาคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย และลงมติเป็นเอกฉันท์ ตีตกคำร้องดังกล่าวโดยเห็นว่าการโหวตเลือกนายกฯ พิธา ซ้ำรอบ 2  ไม่ได้ และผู้ร้องมิได้ถูกละเมิดสิทธิ

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มี เจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจากการกระทําละเมิดโดยใช้อํานาจรัฐ แต่บุคคลที่ จะมีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง

สําหรับกระบวนการได้มา ซึ่งนายกรัฐมนตรีรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้รัฐสภาพิจารณาให้ ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอและเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตาม มาตรา 88 เท่านั้น ดังนั้น ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอ ตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ก่อตั้งขึ้นเป็นหลักการใหม่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกเหนือจากสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในหมวด เมื่อผู้ร้องเรียนทุกคนไม่ใช่บุคคลที่ พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ว่าจะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา

ผู้ร้องเรียนทุกคนจึงไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ โดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคําร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง ประกอบมีช่องทางในการยื่นคําร้องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแล้ว

ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคําร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคําสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคําสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาแล้ว คําขออื่นย่อมเป็นอันตกไป

ความเป็นมา รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ ญัตติซ้ำ ได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 วาระสำคัญคือพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 2 โดยขณะนั้นยังมีขั้วจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค 312 เสียง นำโดยพรรคเพื่อไทย และ พรรคขั้วรัฐบาลเดิม 188 เสียง รวมกับ สว.

โดย ขั้วจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ได้เตรียมเสนอญัตติ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ที่ประชุมลงมติเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 แต่ปรากฏว่าก่อนเข้าสู่วาระมีการแสดงความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่าย พรรคร่วม 312 เสียง เห็นควรให้โหวตเลือกนายกฯ รอบ 2 ได้  และสามารถกระทำได้ ไม่ใช่ญัตติซ้ำ และไม่ขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41  ขณะที่อีกฝ่าย เห็นว่าการเสนอชื่อนายพิธา เป็นญัตติซ้ำที่ตกไปแล้ว ไม่สามารถนำมาลงมติใหม่ได้ ตามข้อบังคับที่ 41

สุดท้าย นายวันมูฮัมหมัด นอร์มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ได้ให้สภาลงมติตามข้อบังคับที่ 151 เพื่อตีความและวินิจฉัยว่า ข้อบังคับการประชุมที่ 41 ในการเสนอชื่อ นายพิธา ในการโหวตนายก รอบ 2 เป็นญัตติซ้ำ และญัตติต้องตกไป หรือไม่

โดยผลการลงมติ ร่วมกันทั้ง 2 สภา จะต้องได้เสียงส.ส.-ส.ว. เกินกึ่งหนึ่ง 375 เสียงขึ้นไป จาก จำนวน 748 เสียง มีผู้มาประชุม 716 คน ครบองค์ประชุม ผลการลงมติ ที่ประชุมร่วม 2 สภา เห็นด้วย 395 คะแนน ไม่เห็นด้วย 312 คะแนน งดออกเสียง 8 คะแนน ไม่ลงคะแนน 1  คะแนน กึ่งหนึ่ง 374  เห็นว่า การใช้มติตามข้อ 41 ดำเนินการใช้ได้ ไม่สามารถเสนอชื่อคุณพิธาซ้ำได้

ต่อมา 24 สิงหาคม สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาคำร้องของ นายพรชัย เทพปัญญา  นายบุญส่ง ชเลธร และนางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สส.นนทบุรี พรรคก้าวไกล ได้ยื่นต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการที่ที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 มีมติว่าการเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำไม่ได้เนื่องจากเป็นญัตติซ้ำ ขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 41 นั้น

เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้หรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็ขอให้มีคำสั่งไปยังที่ประชุมรัฐสภาให้ยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย จากนั้น 27 กรกฎาคม 2566 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งคำร้องต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

กระทั่ง วันที่ 3 สิงหาคม 2566 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวว่ายังไม่รับคำร้องในวันดังกล่าว แต่ให้ผู้ร้องระบุสถานะตนเอง รวมถึงพิจารณาประเด็นเชิงหลักการเรื่องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย มีใจความดังนี้

“ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า มีประเด็นสำคัญต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีประเด็นเชิงหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมให้เลื่อนการพิจารณาสั่งคำร้อง และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป”

นัดพิจารณาคำร้องในวันที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 09.30 น. ทั้งนี้ให้ผู้ร้องระบุสถานะของคณะผู้ร้องเรียนที่ 3 ทุกรายว่าเป็นประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภาต่อศาลภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2566

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ วันที่ 15 สิงหาคม 2566 มติที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย มีมติเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี

ติดต่อเรา สยามชัยพลาซ่า
เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกกว่าห้าง
โทร: 065-7190991
อีเมล์: INFO@SIAMCHAIPLAZA.COM

บริษัท สยามชัย เซอร์วิส จำกัด ขอแจ้งนโยบายการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Notice) เพื่อลูกค้าทุกท่านจะได้รับทราบถึงการเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน โดยบริษัทได้ประกาศให้ทราบไว้ที่ นโยบายส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save