ประมวล 5 เหตุการณ์เด่น ในการโหวต “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกฯ ครั้งแรก
ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลเดินทางไปสังเกตการณ์ผลการโหวตด้านนอกอาคารรัฐสภา
ทว่า เส้นทางจากรัฐสภาสู่ทำเนียบรัฐบาลของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตพรรคก้าวไกล ยังไม่ประสบความสำเร็จในการโหวตโดยสมาชิกรัฐสภา ที่ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 249 คน
สาเหตุหลักของความพยายามครั้งแรกที่ล้มเหลว มาจาก ส.ว. ส่วนใหญ่ใช้วิธีการงดออกเสียงและไม่เห็นชอบ ในขณะที่ ส.ส. อีกฟากโหวตไม่เห็นชอบ ทำให้ผลการโหวตที่รู้ผลในเวลา 18.05 น. อยู่ที่ เห็นชอบ 324 คน ไม่เห็นชอบ 182 คน งดออกเสียง 199 คน ในขณะที่มีสมาชิกรัฐสภาขาดประชุมและไม่ได้ออกเสียงอีก 44 คน
อย่างไรก็ตาม การโหวตครั้งต่อไปประธานรัฐสภาได้กำหนดไว้แล้วคือ วันที่ 19 ก.ค. นี้
ตลอดการประชุมหารือร่วมทั้งสองสภาในวันนี้ มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ซึ่งบีบีซีไทยประมวลมาดังนี้
“พิธา” ปะทะคารมเดือด “ชาดา”
การประชุมร่วมสองสภาเริ่มต้นขึ้นในเวลา 9.30 น. ตามกำหนด โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ขึ้นทำหน้าที่บนบัลลังก์ ตามด้วยการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ แบบไร้คู่แข่ง โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
แต่อุณหภูมิในสภาเริ่มสูงขึ้น เมื่อนาย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทยลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรกใช้เวลาราว 25 นาที โดยเริ่มต้นจากการอ่านแถลงการณ์พรรคฯ ฉบับวันที่ 17 พ.ค. 2566 ที่ระบุว่า “ไม่สามารถลงมติสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้”
จากนั้นเขาได้ตั้งคำถามไปยังหัวหน้า 7 พรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ว่ามีจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร แม้การแก้ไขมาตรา 112 ไม่อยู่ในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยืนยันตลอดว่า ส.ส. พรรคก้าวไกลจะผลักดันเสนอร่างกฎหมายเอง โดยอ้างว่าจะทำเพื่อปกป้องสถาบันฯ และอ้างว่า 14 ล้านเสียงเห็นด้วยกับพรรค ก.ก.
“14 ล้านไม่ถึง 20% เลย ท่านอย่าหลงระเริงกับคำว่า 14 ล้าน เพราะมันไม่ถึง 20% มันไมใช่เรื่องชี้ขาดของประเทศนี้” นายชาดากล่าว
ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย นายชาดาตั้งคำถามถึงนโยบายแก้ไข ม. 112 ของพรรคก้าวไกล ว่าหากมีการแก้ไขจริง จะทำให้สถาบันกษัตริย์ของไทยไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างที่ควร และจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย
“ผมอาจจะขอเค้าว่า ขอออกกฎหมายใหม่ ยิงไอ้คนที่หมิ่นสถาบันฯ แล้วไม่ติดคุก ดีมั้ย” ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.ภูมิใจไทย
การแสดงความเห็นดังกล่าวทำให้นายพิธาต้องลุกขึ้นตอบโต้เนื่องจากไม่เห็นด้วยว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือการที่นายชาดาพูดว่า ใครหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เอาปืนไปยิง
“ไม่แน่ใจว่าคนที่สูญเสียไปตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง เมื่อหลายปีก่อน เช่น 99 ศพ ที่ราชประสงค์ หรือ 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา เป็นต้น ที่ยังไม่รู้ว่าวัฒธรรมรับผิดรับรับชอบที่เกิดขึ้น เขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนอภิปรายเรื่องนี้ในสภาแห่งนี้” นายพิธาตอบโต้
ม.112 ถูกอภิปรายในรัฐสภาครั้งแรก โดย ส.ว.
นอกจากประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายพิธาหลังจากที่ต้องเผชิญกับเรื่องการถือหุ้น บมจ. ไอทีวี แล้ว ประเด็นหลักที่เป็นข้อถกเถียงในการอภิปรายในครั้งนี้คือ การอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายการแก้ไข ม.112 โดยเฉพาะการอภิปรายของนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ที่หยิบยกเอาเนื้อหาของ ร่าง แก้ไขมาตรา 112 ฉบับก้าวไกลที่เคยเสนอต่อสภาชุดที่แล้ว แต่ไม่ได้รับการบรรจุในญัตติ มาอธิบายในสภาเป็นครั้งแรก
ในการอภิปราย ส.ว. รายนี้ได้อธิบายสรุปเนื้อหาร่างแก้ไขมาตรา 112 ฉบับดังกล่าวค่อนข้างชัดเจน โดยเขามองว่า แนวทางของพรรคก้าวไกลนั้นละเมิดต่อรัฐ ต่อความมั่นคง โดยเฉพาะการลดโทษอย่างมีเงื่อนไขต่อบุคคลที่ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 3 แสนบาท และมีบทยกเว้นโทษที่ถือว่าไม่ต้องรับโทษหากเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายของพรรคก้าวไกล ไม่จำกัดแค่สถานะที่องค์พระมหากษัตริย์จะละเมิดไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การใส่ร้าย การวิจารณ์ไม่เป็นธรรมในสื่อสังคมออนไลน์ และทำให้มาอยู่ในระนาบบุคคลธรรมดา แล้วใช้มาตรฐานบุคคลธรรมดาไปจับ
“พิธา” ขอเป็นฉันทามติใหม่ในความปกติใหม่ของประเทศ
ในช่วงท้ายของการอภิปรายเป็นช่วงเวลาที่นายพิธา ขอแสดงวิสัยทัศน์และโน้มน้าวใจของสมาชิกรัฐสภาก่อนที่จะมีการลงมติในเวลาประมาณ 16.00 น.
สาระสำคัญของการแสดงวิสัยทัศน์ในครั้งนี้ คือการกล่าวถึงการทำงานร่วมกันในรัฐสภาก่อนทั้งในกลุ่ม ส.ส. จากพรรครัฐบาลเดิม และกลุ่ม ส.ว. โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเน้นสื่อสารไปยังกลุ่ม ส.ว. เปิดโอกาสให้ประเทศไทยคืนความปกติให้การเมืองไทย
“ผมอยากจะขอเสนอตัวเองให้เป็นฉันทามติใหม่ในความปกติใหม่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับเรื่องการเมือง มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อสิ่งใหม่เกิดขึ้นย่อมถูกต่อต้านจากสิ่งเก่า แต่สุดท้าย ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะหาจุดลงตัวได้ ซึ่งเป็นจุดลงตัวที่ไม่มีใครได้ทั้งหมด และไม่มีใครเสียทั้งหมด ที่เรายอมรับกันได้แม้จะไม่เห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่จะไปถึงจุดนั้นได้เราต้องสร้างสังคมไทยให้พร้อมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงความคิดทางการเมือง และนี่คือก้าวสำคัญในการสร้างฉันทามติใหม่ ทั้งในเรื่องขบวนการจัดการความขัดแย้งด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตย”
เขาอธิบายว่า ฉันทามติใหม่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะคิดเหมือนกัน แต่ฉันทามติใหม่ที่จะสร้างร่วมกันคือ การยึดถือกระบวนการที่เป็นธรรมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ของสังคม และควรนำเรื่องที่ผู้คนเห็นแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปฏิรูปกองทัพ การยกเลิกการผูกขาดทางเศรษฐกิจ การจัดการที่ดิน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กระบวนการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 หรืออื่น ๆ มาใช้ข้อยุติร่วมกัน โดยใช้กระบวนการในสภาหรือกลไกทางประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่การปะทะกันบนท้องถนน ต้องบริหารจัดการความเห็นต่างไม่ให้กลายเป็นความขัดแย้งด้วยการปกป้องเสรีภาพการแสดงออกให้มีระบบนิติรัฐ มีระบบกฎหมายที่ดี มีกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเจ้าของประเทศเป็นเป้าหมายหลักของรัฐและความมั่นคงของชาติ ก็คือความมั่นคงของประชาชน ไม่ใช่มองประชาชนเป็นศัตรูของชาติ
“นี่เป็นการเลือกให้โอกาสแก่ประเทศไทย คืนความปกติให้การเมืองไทย ให้สามารถที่จะบอกว่าฉันทามติที่ประชาชนทั้งประเทศได้ตัดสินใจไปแล้วนั้น คือการตัดสินประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ผมไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วยตัวคนเดียว ต้องอาศัยการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาที่ยึดหลักการ กล้าหาญ และเห็นแก่อนาคตของชาติที่มีประชาชนเป็นหัวใจ ผมขอเชิญชวนทุกท่านอย่าให้ความคลางแคลงใจที่ท่านมีต่อผม ขวางกั้นประเทศไทยไม่ให้เดินต่อตามเสียงและเจตนารมณ์อันแรงกล้าของประชาชน ขอให้การตัดสินใจของท่านนั้นสะท้อนในความหวังของประชาชนและของตัวท่านเอง อย่าให้สะท้อนในความกลัวครับ” นายพิธา กล่าวทิ้งทาย
ส.ว. ส่วนใหญ่ใช้ “งดออกเสียง” คว่ำ “พิธา”
แม้ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา มีประชาชนแสดงเจตจำนงผ่านการเลือกตั้งด้วยการใช้สิทธิ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ 39.5 ล้านคน คิดเป็นกว่า 75.7% โดยมีผู้ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคก้าวไกลกว่า 14.4 ล้านคน
ทว่า ส.ว. 250 คน คือปราการสำคัญของการขึ้นสู่อำนาจของนายพิธา เพราะในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว. ลงเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย โดยนายพิธาจะต้องได้รับเสียงรับรองจากทั้ง ส.ว. และ ส.ส. รวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภาที่เหลืออยู่ 749 คน นั่นคือต้องได้ 375 เสียง
การโหวตนายกรัฐมนตรีซึ่งเร็วกว่ากำหนดการหนึ่งชั่วโมง เริ่มต้นในเวลา 16.00 น. และสิ้นสุดราว 18.00 น. ผลปรากฏว่า นายพิธา ได้รับเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอจากรัฐสภา โดยเฉพาะเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ซึ่งเขาได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 13 เสียงเท่านั้น ในขณะที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ 159 คน งดออกเสียง ตามาด้วย กลุ่มที่ไม่ลงคะแนนและไม่เข้าประชุม 43 คน และลงมติไม่เห็นชอบ 34 คน
ส.ว. 13 เสียงหนุน – 1 เสียงยอมปิดสวิตท์ด้วยการลาออก
แม้ว่าในการโหวตนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก จะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนโดย ส.ส. จากพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมเลยและเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ว. แต่พบว่า มี ส.ว. 13 เสียงที่โหวตหนุนนายพิธาเป็นนายกฯ
ประกอบด้วย บุคคลที่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะว่าจะลงมติเห็นชอบ เช่น นายมณเฑียร บุญตัน, นายวันชัย สอนศิริ, นพ.อำพล จินดาวัฒนะ และนางประภาศรี สุฉันทบุตร
นอกจากนี้ยังมี ศ.เกียรติคุณ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์, นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล, นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, พล.ต.ท.ณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง, นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ, นายพิศาล มาณวัฒน์, นายเฉลา พวงมาลัย, นายพีระศักดิ์ พอจิต, และ พล.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา
ส่วนอีกคนที่ถือว่าเป็นการปิดสวิตท์ตัวเองด้วยการลาออกจากการเป็น ส.ว. คือ น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร ที่ยื่นใบลาออกจากการเป็น ส.ว. เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ทำให้ไม่สามารถเลื่อนผู้มีรายชื่อในบัญชีสำรองมาเป็น ส.ว. ได้ทัน
เส้นทางจากสภาสู่ทำเนียบของนายพิธาจะเป็นอย่างไร การประชุมเพื่อโหวตครั้งต่อไปในวันที่ 19 ก.ค. จะลงเอยอย่างไร ต้องติดตาม
ขอขอบคุณข่าวจาก : ข่าว ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด วีดีโอ – BBC News ไทย