สยามชัยพลาซ่า > บทความ > เลือกตั้ง 2566 : ถอดรหัสคลิป รทสช. การต่อสู้เฮือกสุดท้ายของ “อนุรักษนิยมฮาร์ดคอร์”

เลือกตั้ง 2566 : ถอดรหัสคลิป รทสช. การต่อสู้เฮือกสุดท้ายของ “อนุรักษนิยมฮาร์ดคอร์”

เลือกตั้ง 2566 : ถอดรหัสคลิป รทสช. การต่อสู้เฮือกสุดท้ายของ “อนุรักษนิยมฮาร์ดคอร์”

"แล้วทหารหายไปไหนหมดอะลูก" ฉากนี้ในคลิป ถูกนำไปทำเป็นมีมอย่างหลากหลาย

ที่มาของภาพ,พรรครวมไทยสร้างชาติ

คำบรรยายภาพ,“แล้วทหารหายไปไหนหมดอะลูก” ฉากนี้ในคลิป ถูกนำไปทำเป็นมีมอย่างหลากหลาย

คุณอยากให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมจริงหรือ ? ประโยคคำถามปรากฏขึ้นบนหน้าจอ ก่อนภาพตัดมาที่ข้าราชการเกษียณต้องมานั่งขอทานบนสะพานลอย

ตลอดคลิปวิดีโอความยาวกว่า 2.40 นาที ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ รทสช. เผยแพร่ออกมา กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่งดงามในเชิงคำพูด ไม่ว่าจะศิลปะที่เบ่งบาน ความเท่าเทียมถึงระดับครัวเรือน การเกณฑ์ทหารที่หมดไป และประเทศแห่งสิทธิเสรีภาพทางเรือนกาย

แต่ รทสช. นำเสนอความเป็นจริงอีกด้านของความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ที่กลับกลายเป็น อนุสาวรีย์ประธิปไตยที่ถูกปิดด้วยแผ่นผ้าประท้วง ลูกชายต่อว่ามารดาว่า “ทำไมไม่โหวต” เลือกอาหารที่จะทาน ลูกสาวที่กลายเป็นผู้ให้บริการคอนเทนต์สำหรับผู้ใหญ่ และข้าศึกประชิดชายแดนที่ไร้การป้องกัน เพราะยกเลิกเกณฑ์ทหาร

เมื่อ ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชมคลิปดังกล่าว ที่มีผู้รับชมเกือบ 3 แสนคนในยูทิวบ์ เกือบแสนวิวบนเฟซบุ๊ก เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง รวมถึงกลายเป็นมีมแพร่หลาย

“การปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดแบบสุดขั้ว มันสะท้อนช่วงเวลาของความสิ้นหวัง” ผศ.ดร.บัณฑิต ซึ่งสื่อหลายสำนักยกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดการเมือง (Political Marketing) กล่าวกับบีบีซีไทย

แต่เมื่อถามว่า คลิปนี้เป็นการรณรงค์โค้งสุดท้ายที่ผิดพลาดของ รทสช. ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ เขาตอบแบบไม่เว้นจังหวะว่า “ไม่พลาด ไม่มีวันพลาด” เพราะ รทสช. กำลังรวบรวมฐานเสียงขั้วอนุรักษนิยมที่แตกกระจายให้เป็นปึกแผ่นใต้ปีก รทสช.

“คุณกำลังอ้อนวอนผู้ลงคะแนนที่เป็นฐานเสียงที่เหนียวแน่น และนี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นฐานคติของรัฐบาลคุณประยุทธ์ ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร จนถึงปัจจุบัน” และคลิปวิดีโอที่กลายเป็นที่พูดถึงนับแต่เผยแพร่ สะท้อนสิ่งที่เรียกว่า “อนุรักษนิยมฮาร์ดคอร์”

.

ที่มาของภาพ,รวมไทยสร้างชาติ

คำบรรยายภาพ,“เขายกเลิกเกณฑ์ทหารกันไปแล้ว ยาย” หลานชายตอบในคลิป

คลิปวิดีโอที่เกรดสีให้มีโทนหม่นหมอง เนื้อหาที่คล้ายโฆษณาประกันชีวิตบีบเค้นอารมณ์ ถูกสังคมและขั้วการเมืองฟากตรงข้ามวิจารณ์ว่า เป็นการเมืองแห่งความกลัว ที่ตั้งเงื่อนไขกับผู้มีสิทธิลงคะแนน คล้ายวาทกรรม “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่” ในการเลือกตั้งปี 2562

บีบีซีไทย ชวนชำแหละวิดีทัศน์หาเสียงนี้ของ รทสช. ผ่านนักรัฐศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ “ถอดรหัสพลิกสนามเลือกตั้ง” ที่มองเกมการเมืองในเชิงการตลาด

รทสช. กำลัง “โบกผ้าเปื้อนเลือด”

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เคยเปรียบพรรคหลักในศึกเลือกตั้ง 2566 เป็นถนนเส้นหนึ่ง ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ เป็นเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวร้านใหม่ที่ต้นซอย แยกตัวจากร้านเดิมท้ายซอย คือ พลังประชารัฐ (พปชร.)

พ่อค้าก๋วยเตี๋ยวคนนี้ “ทำกับข้าวห่วยแตก พูดจาไม่ไพเราะ ไม่สุภาพ” ประชาชนหลายคนอาจเบือนหน้าหนี แต่ก็มีหลายคนที่มองเจ้าของร้านสูงวัยคนนี้ “เป็นคนตรงไปตรงมา ทำกับข้าวไม่ดี แต่ว่ามีคุณสมบัติอื่น เลยต้องอุดหนุนเขาไม่ให้ร้านเจ๊ง”

ฉะนั้น ก๋วยเตี๋ยวชามนี้ (คลิปวิดีโอดังกล่าว) มุ่งเสิร์ฟให้กับลูกค้าที่ภักดี ซึ่งหากดูจากสถิติเลือกตั้งปี 2562 ก็คือฐานเสียง พปชร. กว่า 8.4 ล้านเสียง และเสียงจากพรรครวมพลัง (รพ.) หรือเดิมคือพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) อีกกว่า 4 แสนเสียง รวมเป็นเกือบ 9 ล้านเสียง ให้มาสนับสนุน รทสช. อย่างไม่แตกแถว

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ที่มาของภาพ,PANDIT CHAN

คำบรรยายภาพ,ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

คลิปนี้ต้องการ “ปลุกโหวตเตอร์ที่เคยสนับสนุนเขา ปลุกโหวตเตอร์ที่เคยสนับสนุน กปปส. และอนุรักษนิยมฮาร์ดคอร์” และอาจรวมถึงฐานเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีอดีต ส.ส. หลายคน ย้ายไปเข้า รทสช. ด้วย

“เขารู้ว่าเขาสื่อสารกับใคร” ผ่านรหัส (Code) ที่ออกมาในภาพทหารที่หายไปจากการปฏิรูปกองทัพ ประชาธิปไตยสุดโต่งถึงโต๊ะอาหาร เด็กที่มองเสรีภาพเรือนกาย จนทำให้พ่อแม่คนรุ่นเก่ากังวล ผศ.ดร.บัณฑิต จึงวิเคราะห์ว่า รหัสที่แฝงอยู่ในคลิป ตั้งใจสื่อไปถึง “เบบี้บูมเมอร์” (เกิดระหว่างปี 2489-2507 หรืออายุ 56-74) ซึ่งคิดเป็น 22.60% หรือราว 15 ล้านคน ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งปี 2566

หากอ้างอิงหนังสือ “มรณกรรมประชาธิปไตย” (How Democracy Die) ชั้นเชิงทางการเมืองเช่นนี้ คือ “การโบกผ้าเปื้อนเลือด” หรือ “การสร้างความสะเทือนใจ สะเทือนอารมณ์” ซึ่งเมื่อถอดรหัสในคลิปออกมาแล้ว ผศ.ดร.บัณฑิต ตีความข้อความที่รวมไทยสร้างชาติพยายามสื่อ ได้ว่า “ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง อยู่อย่างนี้ดีแล้ว”

*หมายเหตุ: “โบกผ้าเปื้อนเลือด” หรือ Waving the bloody shirt เป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ในสหรัฐฯ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนออกไปล้างแค้นให้ทหารที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมือง ต่อมา คำนี้ถูกใช้เพื่อต่อต้านกลุ่มฝักใฝ่สาธารณรัฐ

หากมองในเชิงการถูกพูดถึง วิพากษ์วิจารณ์ ส่งต่อ ไปจนถึงการสร้างมีมมากมาย แม้จะเป็นการเสียดสีและด่าทอด้านลบ แต่ ผู้เชี่ยวชาญวิชาการตลาดการเมือง กลับมองว่า นี่คือสัญญาณ “ความสำเร็จ” ของการเผยแพร่คลิปที่ รทสช. ต้องการ และเป็นไปได้ว่า จะมีคลิปที่มีเนื้อหาปลุกเร้าอารมณ์มากกว่านี้อีก ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. นี้

“มันคือการดิ้นเฮือกสุดท้ายของเบบี้บูมเมอร์”

ถูกปากลูกค้าเก่า แต่ไม่โดนใจลูกค้าใหม่

แม้ “ก๋วยเตี๋ยว” ชามนี้ ของ รทสช. จะปรุงออกมาให้ถูกปากฐานเสียงเป้าหมาย เป็นรสชาติที่เด่นชัด เหมือนรส “แลนด์สไลด์” ของเพื่อไทย บะหมี่รส “กัญชา” ของภูมิใจไทย หรือก๋วยเตี๋ยวเส้นเหนียวแน่นแห่ง “ความปรองดอง” ของ พปชร.

แต่ ผศ.ดร.บัณฑิต มองว่า ยังเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่กลับไม่สามารถ “ขยายฐานเสียง” หรือทำให้ประชาชนที่มีอุดมคติตรงข้าม เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุน รทสช. ได้ เหตุผลเพราะ เนื้อหาในวิดีทัศน์หาเสียงของ รทสช. เน้นอารมณ์เป็นหลัก ซึ่งไม่เพียงพอจะจูงใจคนรุ่นใหม่ อย่าง Gen Y, Gen Z และ มิลเลนเนียม ที่ถูกเลี้ยงมาด้วยหลักของเหตุและผล

.

ที่มาของภาพ,พรรครวมไทยสร้างชาติ

คำบรรยายภาพ,ภาพของประชาธิปไตยที่เข้าถึงครัวเรือนในมุมของ รทสช.

“ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First-time Voter) เขาไม่โง่ เขามีความรู้มากกว่าเราในหลาย ๆ เรื่อง” ผศ.ดร.บัณฑิต ระบุ พร้อมเสนอว่า หากพรรคขั้วอนุรักษนิยม ต้องการจูงใจผู้มีสิทธิกลุ่มนี้ หรือคนรุ่นใหม่ จะต้องใช้วิธีการอธิบาย “ที่แยบยล” กว่านี้ ด้วยการชักจูงด้วยนโยบาย

ดังนั้น หากวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในฟากอนุรักษนิยม ไม่ว่าจะเป็นคลิปหาเสียงของ รทสช. การเผยแพร่เพลง “หนักแผ่นดิน” ของกองทัพบก ทั้งที่ฝ่ายทหารควรจะวางจุดยืนเป็นกลาง กำลังสะท้อนถึง “ความสิ้นหวัง” และเป็น “ปฏิกิริยาต่อความนิยมของประชาชนต่อพรรคสายก้าวหน้า” ด้วยการอาศัยความศรัทธา ความรัก ความเก่าแก่ และความยั่งยืนบางอย่าง มาเป็นเหตุผลให้คนสนับสนุน

เพราะ “การโน้มน้าวเขาด้วยเหตุผลมันจบไปแล้ว” และคลิปของ รทสช. สะท้อนถึงชั้นเชิง “การเมืองแห่งอารมณ์” รวมถึง “ความกลัว” กระชับฐานเสียงที่กระจัดกระจายมาลงคะแนนให้

การเมืองแห่งความกลัว vs ความหวัง ?

หากสังคมตีตราคลิปวิดีโอของ รทสช. เป็น การเมืองแห่งความกลัว บีบีซีไทยสอบถาม ผศ.ดร.บัณฑิต ว่า แล้วคลิปวิดีโอล่าสุดของพรรคก้าวไกล ที่เผยแพร่ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน และมีความยาวเกือบเท่ากับของ รทสช. เป็นการเมืองแบบไหน

“คุณใช่ไหม ที่เคยฝันอยากเปลี่ยนแปลงประเทศนี้” นี่คือประโยคแรก ที่วิดีทัศน์ตั้งคำถามกับเหล่าบุคคลในคลิป ซึ่งก็คือสมาชิกพรรคก้าวไกล และผู้สมัคร ส.ส. ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อ “เปลี่ยนประเทศไทย” แม้ว่าผู้บรรยายจะบอกว่า “โคตรเสี่ยง” “เสียเวลา” “โรแมนติกหรือ” และ “แต่นี่ประเทศไทยนะ”

“ความเปลี่ยนแปลงกับความหวัง” คือสิ่งที่ผู้เขียนหนังสือ “ถอดรหัสพลิกสนามเลือกตั้ง” เห็นผ่านวิดีทัศน์นี้ ซึ่งแฝงข้อความถึง “การยอมรับว่าเราเคยเป็นเสียงข้างน้อย และรอบก่อนก็แพ้”

แต่สิ่งที่พรรคก้าวไกลได้ประโยชน์ คือ “ความสามารถของตัวผู้นำพรรค” และ “ผู้ช่วยหาเสียงของพรรค” ที่แสดงให้เห็นซ้ำ ๆ ถี่ ๆ ถึงความกล้าชน กล้าพูด กล้ายกประเด็นที่ละเอียดอ่อน แต่เล่าได้อย่างมี่เหตุผล มาตอบคำถามของผู้มีสิทธิลงคะแนน ไม่ว่าจะประเด็น หมอกพิษมาไทยต่อเนื่องอย่างไร ทำไมค่าน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และ “8 ปีที่ผ่านมา ทำไมเปลี่ยนไม่ได้ ทั้งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ”

"กาก้าวไกล เปลี่ยนประเทศไทยไปด้วยกัน" พิธา

ที่มาของภาพ,พรรคก้าวไกล

คำบรรยายภาพ,“กาก้าวไกล เปลี่ยนประเทศไทยไปด้วยกัน” พิธา

ข้อความเหล่านี้ของก้าวไกล “มันพุ่งไปที่คนที่พยายามใช้อารมณ์เหนือเหตุผล” สวนทางกับแนวทางของ รทสช. ที่เน้นอารมณ์

หากเปรียบในเชิงการตลาดการเมือง รทสช. คือ กลุ่ม “เน้นผลิตภัณฑ์” คือ “มีของ แล้วฉันจะทำอย่างไรถึงจะขายของได้” ซึ่งอาจทำให้ประชาชนบางคนรู้สึก “ถูกยัดเยียด” สินค้า

ส่วน กก. คือ กลุ่ม “เน้นการตลาด” คือ ก่อนจะขายของ จะมีการถามตลาดก่อนว่าอยากได้อะไร ชอบสินค้าแบบไหน แล้วค่อยออกแบบผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงคุณภาพสินค้า แล้วส่งเข้าสู่ตลาดเพื่อพิจารณา

ท้ายสุด ผศ.ดร.บัณฑิต อยากฝากให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ให้ใช้หลักเหตุผล มากกว่าอารมณ์ เพราะทุกพรรคจะใช้ทรัพยากรทุกอย่าง “เพื่อเร่งเร้าให้โหวตเตอร์ไปใช้สิทธิลงคะแนน”

.

ที่มาของภาพ,รวมไทยสร้างชาติ

คำบรรยายภาพ,อะไรที่หายไปจากหิ้ง ?

และหาก รทสช. ใช้ “การเมืองแห่งอารมณ์” เหมือนการปล่อยคลิปดังกล่าวอีก เขาเตือนว่าเป็นวิธีการที่ “ล้าหลังและสุ่มเสี่ยงมากในระยะยาว” ในประเทศไทยที่มีประวัติศาสตร์การแบ่งขั้วมายาวนาน

เพราะ “มันสื่อว่า ต้องแตกหักกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีสำหรับสังคมประชาธิปไตยที่อยากจะหาวิธีการอยู่กันอย่างสันติ กระทั่งคำว่าปรองดอง ก็คือคำที่อยู่นอกสมการของวีดิทัศน์ชุดนี้”

ติดต่อเรา สยามชัยพลาซ่า
เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกกว่าห้าง
โทร: 065-7190991
อีเมล์: INFO@SIAMCHAIPLAZA.COM

บริษัท สยามชัย เซอร์วิส จำกัด ขอแจ้งนโยบายการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Notice) เพื่อลูกค้าทุกท่านจะได้รับทราบถึงการเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน โดยบริษัทได้ประกาศให้ทราบไว้ที่ นโยบายส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save