เหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดในจักรวาล ปล่อยพลังงานสูงกว่าชั่วชีวิตดวงอาทิตย์ 100 เท่า
นักดาราศาสตร์ตรวจพบดวงไฟสว่างจ้า ซึ่งมีขนาดใหญ่มหึมายิ่งกว่าระบบสุริยะนับร้อยเท่า โดยดวงไฟนี้เกิดจากการปะทุพลังงานความร้อนและแสงสว่างระหว่างที่หลุมดำมวลยิ่งยวดดูดกลืนกลุ่มก๊าซเข้าไป ซึ่งถือเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในห้วงจักรวาล
ดวงไฟยักษ์จากการระเบิดดังกล่าวอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 8,000 ล้านปีแสง และคาดว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อราว 6,000 ล้านปีมาแล้ว โดยมันมีความสว่างเจิดจ้ายิ่งกว่าการระเบิดซูเปอร์โนวาครั้งใด ๆ ที่เคยมีมาถึง 10 เท่า รวมทั้งเปล่งแสงอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลานานถึง 3 ปี กว่าจะมอดดับลง
ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดยดร. ฟิลิป ไวซ์แมน จากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตันของสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์รายงานการค้นพบดังกล่าวลงในวารสารรายเดือนของราชสมาคมดาราศาสตร์ (MNRAS) โดยตั้งชื่อให้เหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ข้างต้นว่า AT2021lwx
ดร. ไวซ์แมนบอกว่า AT2021lwx มีความสว่างเหนือกว่าดวงอาทิตย์ถึง 2 ล้านล้านเท่า ทั้งยังปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมา ซึ่งพลังงานนี้มากกว่าที่ดวงอาทิตย์จะผลิตได้ในชั่วชีวิตถึง 100 เท่า โดยดวงอาทิตย์นั้นจะสิ้นอายุขัยเมื่อมีอายุได้ราว 10,000 ล้านปี
นักดาราศาสตร์ค้นพบเหตุการณ์ AT2021lwx เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2020 โดยใช้อุปกรณ์ ZTF ที่ติดตั้งอยู่กับกล้องโทรทรรศน์ Samuel Oschin ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ตรวจหาการสว่างลุกจ้าอย่างฉับพลันบนท้องฟ้ายามราตรี ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของซูเปอร์โนวาหรือเหตุการณ์ที่ทรงพลังอื่น ๆ ในห้วงอวกาศ
ในตอนแรกเหตุระเบิดที่ถูกค้นพบใหม่นี้ยังมีความสว่างไม่มากนัก ทำให้นักดาราศาสตร์ไม่ได้ติดตามศึกษามันในช่วงปีแรก แต่ในเวลาต่อมาความสว่างเพิ่มเป็นทวีคูณอย่างรวดเร็ว ทำให้เริ่มมีการติดตามศึกษาอย่างจริงจังในปี 2021
ทีมผู้วิจัยสันนิษฐานว่า เหตุระเบิดครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นเพราะหลุมดำมวลยิ่งยวดดูดกลืนกลุ่มก๊าซขนาดมหึมา ซึ่งกลุ่มก๊าซนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของจานพอกพูนมวล โดยก่อตัวเป็นรูปวงแหวนหรือโดนัทและหมุนอยู่โดยรอบหลุมดำมาก่อน แต่ถูกเหตุการณ์ทรงพลังบางอย่าง เช่นการรวมตัวกันของดาราจักรทำให้หลุดเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม จึงถูกแรงโน้มถ่วงมหาศาลของหลุมดำดูดกลืนเข้าไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม เหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในห้วงจักรวาลครั้งนี้ ยังไม่ใช่เหตุการณ์ที่มีความสว่างสูงสุดในจักรวาลเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ เนื่องจากเหตุดังกล่าวได้แก่การปะทุรังสีแกมมา GRB 221009A เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น