การได้นำผลงานออกแบบเสื้อผ้าของตนเองไปแสดงในงานนิวยอร์กแฟชั่นวีค ถือเป็นเป้าหมายและความฝันของดีไซเนอร์ทั่วโลก
สำหรับเด็กหญิงวัย 10 ขวบจาก จ. ตรัง ความฝันกลายเป็นจริงได้จากความรักและการสนับสนุนของครอบครัว
เด็กหญิงเคสิยาห์ ชุมพวง หรือวินนี่ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าอายุน้อยที่สุดในไทยคนหนึ่ง กำลังจะนำเสื้อผ้าที่เธอออกแบบ ต่อยอดจากผลงานศิลปะแบบนามธรรมไปให้นายแบบ-นางแบบระดับโลก สวมใส่ และเดินบนเวที “อาร์ท ฮาร์ท แฟชั่น” (Art Heart Fashion) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิวยอร์กแฟชั่นวีค ระหว่าง 8-11 ก.ย. นี้
ด้วยอายุเพียง 10 ขวบ วินนี่ ถือเป็นดีไซเนอร์อายุน้อยที่สุด ที่แสดงผลงานในสัปดาห์แฟชั่นนิวยอร์ก ทำลายสถิติของเด็กหญิง คริส โรเจอร์ส ชาวอเมริกันที่โชว์ผลงานแฟชั่นตอนอายุ 11 ปี เมื่อปี 2560
ถือเป็นความสำเร็จที่เกินความคาดหมายของ คุณพ่อโพ กรกมล ชุมพวง และคุณแม่มุ้ย ยุภวัลย์ ย่องภู ที่แทบไม่มีความรู้เรื่องศิลปะและแฟชั่นเลย แต่ทุ่มสุดตัว สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ และไม่เคยปฏิเสธจินตนาการของลูก เพราะครอบครัวชุมพวง เชื่อว่า เสียงของทุกคนในครอบครัวล้วนมีความหมาย
“ถ้าลูกบอกว่าเขาเป็นศิลปินระดับโลก เราก็เชื่อและเปิดพื้นที่ให้เขาเป็นศิลปินระดับโลก” คุณพ่อ กรกมล กล่าว
“บอกว่ากล้าคิดลูก กล้าคิดออกมาดัง ๆ ได้เลย…ยังไงป่าป๊า หม่าม๊า ก็มีรักที่รอรับเขาอยู่” คุณแม่ยุภวัลย์ บอกกับบีบีซีไทย
และนี่คือเส้นทางการเลี้ยงดูลูกของครอบครัวธรรมดาจากจังหวัดตรัง ที่บ่มเพาะความฝันที่ไม่ธรรมดาของลูกชายและลูกสาว จนนำไปสู่ความสำเร็จในระดับชุมชน จังหวัด ประเทศ และตอนนี้ สู่เวทีระดับสากล
ฉายแววศิลปินตั้งแต่ 2 ขวบ
กรกมลและยุภวัลย์ พบกันสมัยเรียนนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง และทำงานแวดวงทนายความในกรุงเทพฯ หลายปี ก่อนย้ายกลับไปบ้านเกิดของฝ่ายสามีในจังหวัดตรัง และผันตัวเป็นชาวสวน
ครอบครัวธรรมดาที่เพิ่งมีบุตรชายอายุ 2 ขวบกว่า ชื่อ เด็กชายวจนะ ชุมพวง หรือฮีโร่ ที่ชอบละเลงสีน้ำเป็นท้องฟ้า ทะเล ภูเขา พวกเขาก้าวเข้าสู่โลกศิลปะหลังได้รู้จักกับครอบครัวมิชชันนารีชาวอเมริกัน ที่อาศัยอยู่ใกล้บ้าน
ครอบครัวมิชชันนารี หรือครูสอนศาสนา เลี้ยงลูกแบบให้การศึกษาที่บ้าน หรือโฮมสคูล และให้อิสระกับลูกในการเล่น การเรียน และเลือกสิ่งที่หลงใหล รวมถึงการสร้างผลงานศิลปะแบบไม่ตีกรอบ ซึ่งเด็กชายฮีโร่ ได้เข้าไปสนิทและเล่นกับลูกของมิชชันนารี ทำให้เริ่มสนใจการวาดรูป
“ฮีโร่ชอบวาดรูปมาก วาดทุกที่…พอบ้านนั้น (มิชชันนารี) เห็นงานก็ชมว่าสวยมาก ฮีโร่ภูมิใจมาก กลับมาวาดไม่หยุด” ยุภวัลย์ เล่าย้อนไปถึงการฉายแววด้านศิลปะของบุตรชาย เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน
เธอสังเกตว่า บ้านมิชชันนารีเก็บผลงานศิลปะของลูกอย่างให้ความสำคัญ จึงเริ่มสะสมผลงาน และใส่ใจต่อความหลงใหลในศิลปะของฮีโร่ ทั้งให้กำลังใจทางวาจา นำภาพเขียนใส่กรอบ และผลักดันให้ลูกชายนำผลงานศิลปะ มอบเป็นของขวัญให้เพื่อน ๆ ของครอบครัว เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
เธอและสามีเชื่อว่า ธรรมชาติที่สวยงามของ จ.ตรัง มีส่วนช่วยให้ลูก ๆ ชอบศิลปะ
“อย่างฮีโร่ชอบมองท้องฟ้า เวลาเขาวาด จุดเด่นจะอยู่ที่ท้องฟ้า นั่งมองได้นาน ๆ ” และพออายุได้ราว 5 ปี ทักษะของฮีโร่พัฒนาจนถึงระดับเดินสายแสดงภาพวาดสีน้ำตามที่ต่าง ๆ และตามงานแนวสตรีทอาร์ตใน จ.ตรัง และจังหวัดใกล้เคียง
กลัวลูกสาวรู้สึกไม่มีตัวตน
วินนี่ อายุน้อยกว่าพี่ชาย 1 ปีเศษ ชอบสาดสี เทสี และเกลี่ยสี แต่เป็นภาพที่พ่อและแม่ยังไม่เข้าใจ เพราะไม่เป็นรูปเป็นร่าง เหมือนกับภาพสีน้ำของฮีโร่
แม้ครอบครัวไม่ได้กดดันว่าวินนี่ ต้องฉายแววศิลปิน หรือชอบศิลปะเหมือนพี่ชายที่เริ่มเป็นที่รู้จักในชุมชน แต่ก็อดกังวลไม่ได้ว่า วินนี่จะรู้สึก “ไม่มีตัวตน” ในขณะที่ผู้คนให้ความสนใจพี่ชายอยู่ตลอด
แต่ความกังวลนั้นหมดไปในงานเวิร์กช็อปที่จัดขึ้น ณ หอศิลป์อันดามัน จ. กระบี่ ซึ่งรวมศิลปินแห่งชาติกว่า 30 คน มาสอนทักษะศิลปะและจัดประกวดผลงาน โดย ฮีโร่ คว้าเหรียญทองมาได้สำเร็จ แต่ที่เกินความคาดหมาย คือน้องสาว วินนี่ คว้าเหรียญเงินมาได้
คุณพ่อที่เกิดความสงสัย จึงไปถามกรรมการที่เป็นศิลปินแห่งชาติถึงเหตุผล “อาจารย์ก็บอกว่านี่คือศิลปะที่มาจากใจเด็ก และมีอิสระ เป็นศิลปะนามธรรม”
นับแต่นั้น กรกมลและยุภวัลย์ สนับสนุนความรักในศิลปะของลูก ๆ อย่างเต็มที่ ปัจจุบัน ฮีโร่ (อายุ 11 ปี) สร้างสรรค์ผลงานภาพสีน้ำมาแล้วกว่า 1,000 ชิ้น และมีผู้เสนอราคาสูงสุดถึง 100,000 บาท ส่วนวินนี่ (อายุ 10 ปี) มีงานศิลปะนามธรรมราว 500 ชิ้น และเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้เสนอราคามากถึงภาพละ 50,000 บาท
เส้นทางสู่ดีไซเนอร์-ผู้ประกอบการรุ่นจิ๋ว
นอกจากความรักในศิลปะ อีกความฝันของวินนี่ คือการเป็นซูเปอร์โมเดล ที่สวมใส่ผลงานการออกแบบแฟชั่นของตัวเอง วันหนึ่ง วินนี่รังสรรค์ผลงานชื่อ “ป่าหิมะ” และอยากได้กระโปรงลวดลายตามศิลปะของตัวเอง
“ด้วยความรักลูก บ้าลูก ก็หาโรงพิมพ์ผ้า หาวิธีการ…แต่โรงพิมพ์ส่วนใหญ่ปฏิเสธหมด” ยุภวัลย์เล่า และยอมรับว่าตอนนั้นเกือบจะถอดใจ แต่เมื่อติดต่อโรงงานพิมพ์ผ้าแห่งสุดท้ายในลิสต์ เล่าเรื่องราวของลูกสาวและส่งภาพผลงานศิลปะไปให้เจ้าของโรงงานดู ปรากฎว่าเจ้าของโรงงานสนใจมาก เดินทางมาเล่นกับวินนี่ที่บ้าน และไม่นาน ได้พิมพ์ผ้าจากลวดลายศิลปะของเด็กหญิงหลายสิบลาย ลายละ 2 หลา
เธอเล่าต่อว่า สิ่งที่เจ้าของโรงงานพูดในเวลาต่อมา กลายเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์ “เคซิยาห์” (Keziah) ที่ได้ไปเฉิดฉายอยู่บนแคตวอล์คระดับโลกที่นิวยอร์ก
“เจ้าของโรงงานบอกว่า ‘คุณแม่ต้องสร้างแบรนด์ให้น้องนะ…ต้องมีโลโก้ จดเครื่องหมายการค้า ถ้าน้องอายุ 17-18 ปี ผมก็คงไม่คุยด้วย แต่เพราะเขาอายุแค่นี้’ ” และนี่ก็เป็นสิ่งที่วินนี่ต้องการเช่นกัน กับการเป็นดีไซเนอร์แบรนด์เสื้อผ้าของตนเอง
“เมื่อลูกสาวมาทางแฟชั่น เราก็เปิดพื้นที่ให้ มีอะไรทำได้ทำเลย ไม่ต้องรอให้เขาโต” กรกมล จึงตัดสินใจกันในครอบครัวว่า ไม่เพียงจะฟูมฟักลูก ๆ ให้เป็นศิลปิน แต่จะสนับสนุนการสร้างธุรกิจแฟชันให้ลูกสาว ทั้งที่ วินนี่ จะอายุไม่ถึง 10 ขวบในเวลานั้น และแม้ว่าตัวพ่อและแม่เอง ก็ไม่มีความรู้ด้านการทำธุรกิจด้านนี้เลย
ผลงานศิลปะที่พิมพ์ลงบนผืนผ้า ได้รับความนิยมในการจัดแสดง “สไตล์บางกอก” (Style Bangkok) ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมการค้าระหว่างประเทศ ที่ไบเทคบางนา เมื่อปี 2563 และวินนี่ ถือเป็นผู้ประกอบการที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดงาน จนแรกเริ่ม ทางผู้จัดงานไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่จัดงานในวันแรก ๆ เพราะเด็กเกินไป
ท้ายสุด ผลิตภัณฑ์ที่นำไปจำหน่ายทั้งงานศิลปะ ผ้าพันคอพิมพ์ลายจากเส้นสีน้ำของฮีโร่ และผ้าม้วนพิมพ์ลาย ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผ้าม้วนที่ขายเป็นหลา จำหน่ายหมดเกลี้ยง
แล้วไปถึงนิวยอร์กแฟชันวีค ได้อย่างไร
“พ่อแม่ไม่ได้วางแผนอะไร…ไม่ได้วางไว้ว่าต้องไปนิวยอร์ก” กรกมล ยอมรับกับบีบีซีไทย
โอกาสนำแบรนด์เคซิยาห์ไปเฉิดฉายในนิวยอร์กเปิดออก หลังรุ่นพี่สมัยมหาวิทยาลัย เห็นว่าแบรนด์เริ่มมีชื่อเสียงระดับหนึ่ง และทั้ง ฮีโร่-วินนี่ ก็อยากไปเวทีระดับโลก
“งั้นก็อธิษฐานนะ” คุณพ่อวัย 43 บอกกับลูก ๆ ในตอนนั้น ส่วนที่ให้อธิษฐาน เพราะครอบครัวนับถือศาสนาคริสต์
การพิจารณาของทาง “อาร์ต ฮาร์ต แฟชัน” จะดูจากโปรไฟล์ของแบรนด์ และแผนการแสดงแฟชันว่าน่าสนใจหรือไม่ เพราะเป็นงานแบบขายบัตรให้เข้าชม โดยมีรุ่นพี่คนดังกล่าว ประสานส่งโปรไฟล์ของเคสิยาห์ไปให้
ผลปรากฏว่าทางนิวยอร์กตอบรับ ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมายของครอบครัว และยิ่งเกินคาด ที่มีสปอนเซอร์ให้การสนับสนุนทางการเงิน เพราะค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากต้องเดินทางไปนิวยอร์กทั้งครอบครัว
สำหรับ “อาร์ต ฮาร์ต แฟชัน” (Art Heart Fashion) เป็นแพลตฟอร์มแฟชันชั้นนำ ที่นำเอาดีไซเนอร์และศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันสู่แนวหน้าของสัปดาห์แฟชั่นในนิวยอร์ก แขกในงานในอดีตประกอบด้วยคนดังหลากหลาย รวมถึงบริทนีย์ สเปียร์ส, เอเดรียน โบรดี, และเจสัน เดรูโล เป็นต้น
ครอบครัวที่รับฟังเสียงของเด็ก
สังคมออนไลน์ในไทยถกเถียงถึงการเลี้ยงดูบุตรแบบตีกรอบ และการที่ผู้ปกครองไม่รับฟังความเห็นของเยาวชน มาอย่างต่อเนื่อง แต่ครอบครัวชุมพวงมองว่า เสียงของเด็กมีความหมาย และผู้ใหญ่ควรเคารพและใส่ใจในจินตนาการ และความคิดของเด็ก แม้ว่าลูกจะยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ตาม
“เพราะชีวิตเป็นของเขา” กรกมล กล่าว “เขาชอบอะไร ธรรมชาติเขาเป็นอย่างไร นั่นคือสิ่งที่จะอยู่กับเขาตลอดไป”
เขามองว่า การนำความคิดของผู้ใหญ่ไปกำกับเด็ก จะใช้ได้ผลเพียงแค่ต่อหน้าผู้ปกครองเท่านั้น แต่ถ้าสนับสนุนให้เด็กเป็นตัวของตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ว่าลูกจะเชื่อว่าตนเองเป็น “ศิลปินระดับโลก” หรือ “ดีไซเนอร์ระดับโลก” ตั้งแต่ยังเล็ก การสนับสนุนของพ่อแม่ จะทำให้พวกเขา “เฉียบคม และเป็นอันดับหนึ่งในแบบของเขาเอง”
และไม่ว่าผลงานหรือสิ่งที่ลูกเลือกจะไม่เป็นที่หนึ่งในระดับประเทศหรือระดับโลก แต่ “เขาคือนัมเบอร์วันในสายตาคุณพ่อคุณแม่แน่นอน”
คุณแม่ยุภวัลย์เห็นตรงกันว่า “ลูกถูกสร้างมาในแบบที่เขาเป็น เรามีหน้าที่แค่รักและดูแลเขา และทำให้เขากล้าเชื่อในความเป็นเขา”
“เมื่อไหร่ที่ความรักมากพอในหัวใจ ลูกจะไม่กลัว ลูกจะกล้า จะเชื่อว่ามันเป็นไปได้” เหมือนที่ความรักและการนับสนุนของครอบครัว นำพาแบรนด์เคซิยาห์ ขึ้นไปอยู่บนเวทีนิวยอร์กแฟชั่นวีคได้สำเร็จ