สยามชัยพลาซ่า > บทความ > สื่อต่างชาติชี้อำนาจเก่าสกัดพิธาทุกทาง หวั่นเกิดม็อบ-ความรุนแรงบนท้องถนน

สื่อต่างชาติชี้อำนาจเก่าสกัดพิธาทุกทาง หวั่นเกิดม็อบ-ความรุนแรงบนท้องถนน

สื่อต่างชาติชี้อำนาจเก่าสกัดพิธาทุกทาง หวั่นเกิดม็อบ-ความรุนแรงบนท้องถนน

.

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX

พิธา ได้รับเสียงโหวต 324 ยังขาดอีก 51 เสียง

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้นำพรรคก้าวไกล ประสบความพ่ายแพ้ในการลงมติของรัฐสภาเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) หลังไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวุฒิสมาชิก เพื่อให้เพียงพอต่อการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้

สื่อมวลชนทั่วโลกรายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงความพยายามของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยที่ยังคงต่อต้านกระแสการปฏิรูปอย่างสุดความสามารถ แม้พรรคก้าวไกลและพันธมิตรจะได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อสองเดือนก่อนก็ตาม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลที่มีความเป็นประชาธิปไตยและยึดมั่นในแนวนโยบายเสรีนิยม สั่นคลอนฐานอำนาจและผลประโยชน์ของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันที่ทรงอิทธิพลต่อการเมืองไทยอย่างสูง ทำให้มีสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยที่ลงมติไม่เห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งมีวุฒิสมาชิกที่ขาดประชุมและผู้งดออกเสียงจำนวนมาก

รอยเตอร์รายงานคำพูดของนายพิธา ซึ่งให้สัมภาษณ์กับบรรดาสื่อมวลชนหลังเสร็จสิ้นการลงมติว่า ตัวเขาเองยอมรับผลของการลงมติที่เกิดขึ้น แต่จะยังไม่ยอมแพ้ โดยยังพอมีเวลาในการค้นหาและปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อรวบรวมเสียงสนับสนุนให้ได้ก่อนการลงมติครั้งต่อไปในสัปดาห์หน้า แต่ก็ยอมรับว่าครั้งนี้มีการกดดันสมาชิกวุฒิสภากันอย่างมาก ทำให้คะแนนเสียงไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

.

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX

อย่างไรก็ตาม ประเด็นอ่อนไหวเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถูกสมาชิกรัฐสภาหลายคนยกมาเป็นเหตุผลในการลงมติไม่เห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ตัวเขาเองไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธอย่างชัดเจนว่า จะยอมระงับไม่เดินหน้านโยบายนี้ชั่วคราว เพื่อขจัดอุปสรรคการขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลหรือไม่ แต่นายพิธาระบุเพียงว่า “เราได้สัญญากับประชาชนไว้ว่าอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น”

เว็บไซต์ของซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดผกผันสำคัญอีกครั้งหนึ่งของการเมืองไทย ซึ่งส่อแววว่าจะทำให้กระบวนการเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักและถอยหลัง ทั้งยังเป็นเครื่องยืนยันว่ากลุ่มอำนาจเก่าและชนชั้นปกครองในปัจจุบัน ยังคงไม่ยอมรับฟังเสียงของประชาชน ที่ได้ลงคะแนนสนับสนุนฝ่ายค้านหัวก้าวหน้ากันอย่างท่วมท้น

น้ำตาผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล หลัง พิธา โหวตนายกฯ ไม่ผ่าน

ซีเอ็นเอ็นอ้างถึงคำกล่าวของนายพิธา ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของตนไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งประกอบไปด้วยกองทัพ และชนชั้นนำผู้ทรงอิทธิพล ได้พยายามสกัดกั้นการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อสถานะพิเศษของพวกเขามาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรคก้าวไกลซึ่งมุ่งปฏิรูปสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของกลุ่มอำนาจเก่า ด้วยการ “ลดอิทธิพลของกองทัพ ขจัดการผูกขาด กระจายอำนาจ”

สำหรับทิศทางของการเมืองไทยนับจากนี้ ซีเอ็นเอ็นมองว่าภายในสัปดาห์หน้า ฝ่ายอนุรักษนิยมยังคงมีหนทางที่จะขัดขวางไม่ให้นายพิธาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก แม้ฝ่ายพันธมิตรร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนได้เพิ่มขึ้นก็ตาม เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องกรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา รวมทั้งข้อกล่าวหาล้มล้างสถาบันเบื้องสูงของพรรคก้าวไกลเอาไว้แล้ว ซึ่งศาลอาจวินิจฉัยให้นายพิธามีความผิดจนต้องเว้นวรรคทางการเมืองไปอีกคนได้

ซีเอ็นเอ็นมองว่าหากสภาพการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็จะยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับความโกรธแค้นของประชาชน ซึ่งต่างก็แสดงความไม่พอใจต่อผลการลงมติของรัฐสภาอย่างมากอยู่แล้ว และหากฝ่ายพันธมิตรร่วมจัดตั้งรัฐบาลพบทางตันในการเจรจาครั้งใหม่จนแตกความสามัคคีกันหลังจากนี้ ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนจะต้องจัดการชุมนุมประท้วงขึ้นอย่างแน่นอน

.

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX

.

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX

โจนาธาน เฮด และไซมอน เฟรเซอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีนิวส์ รายงานว่านายพิธาและพรรคก้าวไกลยังคงไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ว่าพวกเขาจะรวบรวมเสียงสนับสนุนให้เพียงพอได้อย่างไร สำหรับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งใหม่ในสัปดาห์หน้า ซึ่งความผิดหวังของเหล่าผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่ถูกดับฝัน มีแววว่าจะเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก จนอาจนำไปสู่ภาวะปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองบนท้องถนนเหมือนในอดีต

ด้านสำนักข่าวอัลจาซีราระบุว่า นายพิธาน่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในการลงมติวันที่ 19 ก.ค. ที่จะถึงนี้ หากไม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปเสียก่อน แต่ระหว่างนี้เชื่อว่าพันธมิตรร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค จะพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อโน้มน้าวใจบรรดาสมาชิกรัฐสภาให้หันมาออกเสียงสนับสนุนนายพิธาเพิ่มขึ้น

สำนักข่าวเอพีรายงานความคิดเห็นของ ดร. ไมเคิล มอนเตซาโน ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านไทยศึกษาจากสถาบัน ISEAS–Yusof Ishak Institute ของสิงคโปร์ว่า ความพยายามสกัดกั้นนายพิธาและพรรคก้าวไกลอย่างสุดโต่งนั้น ถือว่าอันตรายและไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

“ท้ายที่สุดแล้ว ระบบการเมืองของไทยและคนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำ จะต้องพยายามตอบสนองต่อความเป็นจริงของสังคมและความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ผู้มีการศึกษาให้มากขึ้น คำถามสำคัญที่สุดก็คือ กระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้จะเกิดขึ้นอย่างเจ็บปวดและเต็มไปด้วยความรุนแรงหรือไม่ หรือจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์เพื่ออนาคตของประเทศชาติ” ดร.มอนเตซาโน กล่าว

ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กและนิกเคอิเอเชีย รายงานข่าวการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของไทย โดยต่างก็เน้นย้ำถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลยังคงเนิ่นช้าและถูกเลื่อนออกไปอีกนานหลายสัปดาห์ จนทำให้การพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณในเดือน ต.ค. ต้องล่าช้าเกินกำหนด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังถดถอยอยู่แล้วให้ย่ำแย่ลงไปอีกได้

ขอขอบคุณข่าวจาก : ข่าว ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด วีดีโอ – BBC News ไทย

ติดต่อเรา สยามชัยพลาซ่า
เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกกว่าห้าง
โทร: 065-7190991
อีเมล์: INFO@SIAMCHAIPLAZA.COM

บริษัท สยามชัย เซอร์วิส จำกัด ขอแจ้งนโยบายการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Notice) เพื่อลูกค้าทุกท่านจะได้รับทราบถึงการเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน โดยบริษัทได้ประกาศให้ทราบไว้ที่ นโยบายส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save