Smart Zoo คลองหก แลนด์มาร์กใหม่ประเทศไทย
พื้นที่ประมาณ 300 ไร่บนที่ดินพระราชทานตั้งอยู่บริเวณคลองหก อ.ธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี กำลังจะกลายเป็นสวนสัตว์แห่งใหม่ของประเทศไทย หลังจากที่องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯได้ลงนามในสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ระยะที่ 1 กับกิจการค้าร่วมอาร์เอสดีที (RSDT) ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทสยาม ทีซี เทคโนโลยี่ และบริษัทโรลลิ่ง คอนเซปต์ อินโนเวชั่น จำกัด
ท่ามกลางการคาดหวังเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ สวนสัตว์คลองหก จะกลายเป็น landmark ใหม่ของประเทศไทย
นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) กล่าวถึงการเข้าประมูลเพื่อก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ระยะที่ 1 ว่า ทางองค์การสวนสัตว์ฯได้เผยแพร่เอกสาร TOR โดยไม่มีการขายแบบเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันหาผู้ชนะที่ดีที่สุด เบื้องต้นมีคนเข้ามาโหลดแบบทั้งหมด 39 ราย ปรากฏมีคนยื่นซองจริง ๆ แค่ 2 ราย คือ กิจการค้าร่วม RSDT กับกลุ่มธุรกิจก่อสร้างที่มีคนทำซาฟารีเวิลด์รวมอยู่ด้วย โดยการประมูลไม่ได้แข่งขันกันที่ “ใคร” เสนอราคาค่าก่อสร้างสวนสัตว์ต่ำสุด แต่พิจารณากันที่ประสบการณ์ บุคลากร ผลงาน ความสามารถในการบริหารจัดการ ทีมงานที่ให้ความมั่นใจ และที่สำคัญ โครงการนี้มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการทำสวนสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์ หรือ animal welfare เป็นจำนวนมาก
“ในประเทศไทยไม่มีโครงการก่อสร้างสวนสัตว์ขนาดใหญ่มานานมากแล้ว ที่ผ่านมาเป็นเพียงการพัฒนาปรับปรุงสวนสัตว์เดิม เรามองว่านอกเหนือจากการเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องแบ่งเป็น 2 เฟสแล้ว แบบที่ได้รับมา (บริษัทดีไซน์+ดีเวลลอป หรือ DD เป็นผู้ออกแบบโครงการเฟสที่ 1) จะถูกดีไซน์ตามสถานที่ที่สัตว์นั้น ๆ อยู่อาศัยโดยธรรมชาติ เพราะสวนสัตว์แห่งนี้ในส่วนจัดแสดงจะไม่มีกรงขังสัตว์ สัตว์ต้องอยู่ตามธรรมชาติ จึงเป็นที่มาว่า เราต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างด้านการทำสวนสัตว์ เราจ้างผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสเปนเข้ามาดูแล เรามีผู้เชี่ยวชาญด้าน animal welfare ซึ่งเราให้ความสำคัญมาก” นายฐกรกล่าว
ด้วย concept ที่ไม่ใช่การจัดแสดงสัตว์แบบขังกรงเหมือนกับสวนสัตว์ดุสิตเดิม ประกอบกับพื้นที่จัดแสดงและบริหารจัดการค่อนข้างใหญ่มาก จนเป็นที่มาว่า จะไม่มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งสามารถบริหารจัดการก่อสร้างโครงการนี้ได้เพียงคนเดียว จึงกลายเป็นความจำเป็นที่จะต้องหาบริษัทผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาช่วยกันทำ
โดยทาง ditto จะเข้ามารับผิดชอบด้านซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชั่น เทคโนโลยีดิจิทัลทวิน ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบจำหน่ายตั๋ว-จองตั๋ว และไซเบอร์ซีเคียวริตี้ Team Group จะเข้ามาดูการบริหารโครงการก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภคและการบริหารจัดการน้ำ ส่วนบริษัท สยาม ทีซีฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ditto ที่มีประสบการณ์ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์มาก่อน จะเข้ามาช่วยดูเรื่องส่วนการจัดแสดง นิทรรศการ การจัดดิสเพลย์
และบริษัท โรลลิ่ง คอนเซปต์ จะเข้ามาดูเรื่องต้นไม้ สิ่งแวดล้อม สวนพฤกษศาสตร์ การปลูกป่า จัดหาต้นไม้ที่ตรงกับพื้นที่ที่สัตว์อยู่ในสภาพธรรมชาติดั้งเดิม ซึ่งในส่วนนี้เป็นงานที่ใหญ่มากในการหาต้นไม้ทั้งในประเทศและนอกประเทศเข้ามาปลูกในบริเวณสวนสัตว์ทั้งหมด
“นอกจากจะมีส่วนแสดงสัตว์ตามแต่ละภูมิประเทศแล้ว สวนสัตว์แห่งนี้ยังมี ศูนย์การเรียนรู้สำหรับแสดงนิทรรศการด้วยเทคโนโลยี 4D ในโลกเสมือนจริงที่จะได้เห็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว ซึ่งในส่วนนี้ ditto จะเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด” นายฐกรกล่าว
ด้าน นายภวัคร วงศ์พิเชษฐ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจเกี่ยวเนื่อง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง หรือ Team Group ได้ให้ภาพรวมของสวนสัตว์บนเนื้อที่ 300 ไร่แห่งนี้ว่า ระยะที่ 1 ของโครงการมีเวลาดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด 900 วัน จะประกอบไปด้วย อาคาร 7 แห่ง มีอาคารต้อนรับ อาคารเฉลิมพระเกียรติ อาคารจัดแสดง และอาคารสำนักงาน โดยส่วนด้านหน้าของสวนสัตว์บริเวณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ จะเป็นสวนสาธารณะ พื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์โดยไม่มีการเก็บค่าเข้า จะเป็นสวนสุขภาพไปในตัว
ถัดมาจะเป็นส่วนอาคารต้อนรับที่จำหน่ายตั๋ว สามารถจองตั๋วทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น หรือซื้อตั๋วด้วยตัวเองที่บริเวณทางเข้าได้ ต่อจากนั้นก็จะเป็น zone ที่อยู่อาศัยของสัตว์จากแอฟริกา กับ zone สัตว์จากเอเชียบางส่วน ติดกับบึงน้ำพื้นที่ 40 ไร่ ส่วน zone สัตว์จากออสเตรเลียและอเมริกาใต้จะอยู่ในโครงการก่อสร้างสวนสัตว์เฟสที่ 2 ต่อไป
“ความแตกต่างระหว่างสวนสัตว์ดุสิตเดิม กับสวนสัตว์แห่งใหม่ ก็คือ การจัดแสดงสัตว์ไม่มีการขังกรง สัตว์ในแต่ละโซนจะอยู่ร่วมกัน หากินอย่างเป็นธรรมชาติ คนดูจะถูกจำกัดให้อยู่ในที่ที่จะเฝ้าดูสัตว์ตามธรรมชาติ ที่สำคัญก็คือ สวนสัตว์แห่งนี้จะนำเทคโนโลยีด้านเทคต่าง ๆ เข้ามาช่วย จนอาจจะเรียกได้ว่า เป็น Smart Zoo เรามีความตั้งใจที่จะทำให้เป็นสวนสัตว์ที่ดีที่สุดในอาเซียน และหวังว่าจะเป็นผู้ได้ทำโครงการก่อสร้างในเฟสที่ 2 ต่อเนื่องกันไป” นายภวัครกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ กิจการค้าร่วม RSDT ชนะการประมูลและเริ่มเข้าพื้นที่ก็พบว่า พื้นที่ 300 ไร่เดิมเป็นแนวฟลัดเวย์เก่า และดินเป็นดินเปรี้ยว ดังนั้นการปลูกต้นไม้อาจจะมีปัญหา นับเป็นความยากของงานที่จะต้องมีการนำต้นไม้เข้ามาปลูกเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากต้นไม้จะเป็น “หัวใจ” สำคัญของสวนสัตว์ ซึ่งในส่วนนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์จะเข้ามาจัดการเรื่องดิน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของคนและสัตว์จะเข้ามาดูแลเรื่องระบบน้ำ ทั้งในส่วนน้ำจากคลองรังสิตและน้ำบาดาล และการสต๊อกน้ำสำหรับการใช้ในพื้นที่ 300 ไร่ด้วย
ทั้งหมดนี้นับเป็นความท้าทายในงานก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีก 900 วันข้างหน้า เพื่อตอบโจทย์สุดท้ายที่ว่า ผู้เข้าชมสวนสัตว์เมื่อเข้ามาดูแล้วจะได้อะไรกลับไป และอยากจะกลับมาดูสรรพสัตว์ทั้งหลายในทุ่ง 300 ไร่ ที่คลองหกอีก
เปิดภาพโครงการ “สวนสัตว์แห่งใหม่” มูลค่า 5,000 ล้าน บนเนื้อที่ 300 ไร่
ขอขอบคุณข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ: เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำ ทุกข่าว – หน้าแรก (prachachat.net)